ประวัติบ่อพันขัน
ประวัติบ่อพันขัน
ได้กล่าวเบื้องต้นแล้วว่าบ่อพันขันเป็นนามเล่าขานของพื้นที่และเป็นแหล่งโบราณสถานที่คนทั้งหลายรู้ในนามแหล่งเกลือโบราณในสมัยอดีต ตั้งอยู่รอยต่อของสามอำเภอ คือ อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และ กิ่งอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด แต่พื้นที่การใช้ประโยชน์ส่วนมากจะอยู่ที่ บ้านม่วงหวาน หมู่ที่ 12 ตำบลเด่นราษฎร์ กิ่งอำเภอหนองฮี และตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ราบลุ่มโดยรอบวัดเหนืออ่างเก็บน้ำขึ้นไปเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยชาวบ้านอาศัยทำนาข้าวและบางส่วนก็เป็นป่าเบญจพรรณ เป็นเนินดินที่เป็นแหล่งโบราณคดี ปรากฏร่องรอยทางวัฒนธรรมเหลืออยู่ ก่อนปี 2524 ชุมชนในละแวกนี้ได้ใช้พื้นที่ในการทำอุตสาหกรรมเกลืออย่างเป็นล่ำเป็นสัน และเชื่อกันว่าเกลือสินเธาว์เป็นเกลือที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะเกลือผง ผลิตแทบไม่ทันความต้องการของผู้บริโภค เพราะเชื่อว่ามีวิตามิน ซึ่งสตรีที่คลอดบุตรใหม่นิยมทานกันเพื่อสุขภาพด้วย โดยที่พื้นที่บริเวณบ่อพันขันสมบูรณ์ด้วยเกลือ จึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้คนจากถิ่นอื่นๆ เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นการทำเกลือ เป็นเหตุให้มีประชากรเผ่าพันธุ์ต่างๆ หนาแน่นกว่าเดิม ในจำนวนนี้มีผู้พูดภาษาตระกูลไทย-ลาวจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าเชื่อว่าน่าจะอพยพมาจากแดนตะวันออก ซึ่งน่าจะมาจากลาวเวียงจันทร์ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเจ้าแก้วมงคล ผู้นำไพร่พลมาสร้างเมืองทุ่ง อำเภอสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังปรากฏมีกลุ่มชนที่พูดภาษาส่วย เขมร ซึ่งพบที่บ้านสว่างใกล้บ่อพันขัน บ้านหนองคูณอีกด้วย การเข้ามาอยู่รวมกันของประชากรทำให้เกิดการคมนาคมแลกเปลี่ยนค้าขายก่อให้เกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองในระยะต่อมา
แหล่งน้ำที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในแถบนี้ นอกจากอาศัยน้ำจากบ่อน้ำโบราณบ่อพันขันแล้ว รอบเมืองจำปาขันยังมีการจัดการน้ำเป็นระบบคันคูรอบเมือง อีกส่วนหนึ่งความเป็นบ่อพันขันจึงนับว่ามีความสัมพันธ์ต่อชุมชน ในหน้าแล้งพื้นที่แห่งนี้ใช้เป็นสนามการค้าในอนุภูมิภาค แต่พอฤดูฝนหลังการทำเกลือได้อาศัยน้ำเพื่อการอุปโภค และเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำ พืชผักจากอดีตจนปัจจุบัน ที่สำคัญพื้นที่อ่างเก็บน้ำบ่อพันขันยังเป็นพื้นที่แห่งความเชื่อที่นำมาสู่สนามแข่งเรือบวงสรวงเจ้าพ่อบ่อพันขันอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งลักษณะการแข่งขันในรูปแบบเดียวกันนี้มีในเขตแถบหมู่บ้านสว่าง บ้านเมืองบัว รัตนบุรี พนมไพร ท่าตูม อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น