วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มุมมองแหล่งโบราณสถาน พระธาตุบ่อพันขัน


มุมมองแหล่งโบราณสถาน พระธาตุบ่อพันขัน

             
 พื้นที่บ่อพันขันมีแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานอยู่หลายแห่งกระจายเรียงกันอย่างมีระเบียบ ดังนี้ วัดเกาะบ่อพันขันรัตนโสภณ  บ่อน้ำพันขัน  ศาลเจ้าพ่อบ่อพันขัน ปราสาทหินทรายพระธาตุพันขัน  เนินขันหมาก  และรอยพระบาท พื้นที่ดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปสู่ กู่คันธนาม อำเภอโพนทราย พระธาตุพันขัน  กู่พระโกนา  กู่กาสิงห์   กู่บ้านเมืองบัว  และกู่สันตรัตน์ นครจำปาศรี จังหวัดมหาสารคาม
แหล่งโบราณคดี ดังกล่าวได้รับการขุดแต่งแล้ว มีผลดังนี้
บ่อพันขันมองได้  2  ลักษณะ ที่สำคัญ คือ
     1.  บ่อพันขันต้นตำนานประวัติศาสตร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า (น้ำสร่างครก) เป็นบ่อน้ำเล็กๆ มีสภาพเป็นบ่อหินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติตั้งแต่สมัยโบราณขนาดของบ่อ  กว้าง 10  นิ้ว  ลึก  12  นิ้ว   มีน้ำจืดผุดขึ้นในท่ามกลางพื้นดินที่เป็นดินเค็ม น้ำที่ผุดขึ้นมาจะไม่ขาดสาย  จะตักเป็นพันขัน  แสนขันหรือตักมากเท่าไรน้ำในบ่อนี้ก็ไม่มีวันหมด เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งดินเค็ม  ชาวบ้านที่อพยพเข้ามาต้มเกลือ ต่างก็อาศัยน้ำจืดจากบ่อพันขัน ใช้อุปโภคบริโภค เพราะว่าไม่มีแหล่งน้ำจืดที่ได้อีกในท่ามกลางแหล่งดินเกลือแห่งนี้   ต่อมาทางราชการได้สร้างฝายกั้นน้ำจึงทำให้บ่อพันขันถูกน้ำท่วม   จนถึงปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นสภาพบ่อพันขันกลับคืนมา
2.  บ่อพันขัน   เป็น อ่างเก็บน้ำบ่อพันขัน ตั้งอยู่กึ่งกลางของรอยต่อทั้งสามอำเภอ มีเนื้อที่กว่า700 ไร่ บริเวณอ่างน้ำมีเกาะและสันดอนมีน้ำล้อมรอบ   เกิดจากการสร้างฝายกั้นน้ำ ปัจจุบันเป็นแหล่งหาอาหารของชุมชน  มีการเลี้ยงปลาในกระชัง ด้านฝั่งบ้านตาเณร ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ ใช้น้ำบ่อพันขันเพื่อการประปาหมู่บ้าน   นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันเรือยาวประจำปีชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ของชาวตำบลเด่นราษฎร์และตำบลจำปาขัน และบริเวณรอบๆ ชาวบ้านยังได้จัดทำสวนเกษตรแบบพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ  โดยปลูกพืชผักปลอดสารพิษชนิดต่างๆ ทั้ง  ผักกาด  พริก  มะเขือ และถั่วฝักยาว  เพื่อเอาไว้กินที่เหลือก็ขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น