ที่ตั่งและประวัติโดยย่อ บ่อพันขัน
ที่ตั่ง บ่อพันขัน
ตั้งอยู่ในเขตตำบลเด่นราษฎร์ กิ่งอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณทางด้านตะวันออก ของห้วยเค็มประมาณ100 เมตร ลักษณะทางกายภาพเป็นลานหินทรายแดงกว้างใหญ่ในพื้นที่ ประมาณ1กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณห้วยเค็มทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยทางฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ตำบลจำปาขัน อ.สุวรรณภูมิ ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ของ ต.เด่นราษฎร์ กิ่งอำเภอหนองฮี
โดยพื้นที่ทั้งสองฝั่งยังมีแนวหินทรายต่อเนื่องขึ้นไปอีกบางส่วนจมอยู่ใต้ดิน แนวลำน้ำเค็มจากบ่อพันขัน ไปถึงลำน้ำเสียวประมาณ 2กิโลเมตร ในฤดูน้ำหลากพื้นที่บริเวณบ่อพันขันบางส่วนมักจมอยู่ใต้พื้นน้ำแต่ในฤดูแล้ง พื้นที่บริเวณบ่อพันขันจะปรากฏแนวพื้นหินทรายกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ บริเวณกว้าง โดยมักจะมีร่องรอย ของความเค็มของดินปรากฏโดยทั่วไป ลักษณะเป็นสีขาวของเกลือ และราษฎรในบริเวณนี้มักจะใช้เป็นสถานที่ ผลิตเกลือสินเธาว์ ต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุ เป็นทั้งผลผลิตที่ใช้บริโภคในหมู่บ้านใกล้เคียง และเป็นสินค้าออกไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีษะเกศ สุรินทร์ อุบลราชธานี เป็นต้น โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ผลิต คือ บ่อพันขันนั่นเอง ในบริเวณบ่อพันขันปรากฏพื้นที่ลักษณะพิเศษ คือมีบ่อน้ำจืดธรรมชาติ ที่มีน้ำพุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีวันหยุด มีขนาดกว้างประมาณ 6-8 นิ้ว ลึก 6-8 นิ้ว จึงเป็นที่มาของ บ่อพันขัน ชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า “น้ำสร่างครก” เพราะมีลักษณะคล้ายครกตำข้าว
น้ำบริเวณบ่อพันขัน ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มไหลออกมาเมื่อใด และจะหยุดไหลเมื่อใด อาจจะเป็นเรื่องของระบบน้ำใต้ดิน ที่ไหลซึมอกมาตลอดเวลาตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ในความเชื่อ ของชาวบ้านในเรื่องความอัศจรรย์และความศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ที่จริงๆ ไม่เคยร้องไห้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ ของพื้นที่ เพียงเราจะจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏและยังอยู่ในความทรงจำ ของผู้คนบริเวณนี้คือ การเป็นพื้นที่แหล่งต้มเกลือสินเธาว์ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน โดยพื้นที่รอบๆ มีแต่ความเค็มของเกลือในฤดูแล้ง แต่มีพื้นที่เพียงจุดเล็กๆ ที่มีน้ำจืดไหลออกมาตลอดเวลา ตักเป็นพันขันก็ไม่หมด ท่ามกลางพื้นที่ ที่มีแต่ความเค็มตลอดฤดูแล้ง นับตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ จนถึงเดือน พฤษภาคม ของทุกปี
พื้นที่ บริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำมากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2524 พอในปี 2547 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแรงรวมใจกัน ฟื้นฟูสภาพของบ่อพันขัน ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และคงอยู่กับจังหวัดร้อยเอ็ดตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น